top of page

การเตรียมโรงเรือน

         หากเลี้ยงเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโรงเรือนสำหรับเลี้ยงไกเพราะหากนำมาเลี้ยงแบบตามมีตามเกิดแล้ว  จะได้ผลผลิตที่ต่างกันอย่าง

เห็นได้ชัด และมีโรคระบาดมากกว่าการเลี้ยงแบบมีโรงเรือนด้วย การจัดการโรงเรือนนั้นเน้นให้ไก่ได้อยู่อย่างสบาย มีขนาดที่เหมาะสม สิ้นเปลืองแรงงานน้อย ตามหลักแล้วสถานที่ที่เลี้ยงไก่ย่อมส่งผลต่อน้ำหนักตัวและผลผลิตที่จะได้รับ ซึ่งก็ไม่ต่างจากมนุษย์เรา ไก่ที่ได้อยู่กินในที่ที่ดีก็ย่อมให้ผลผลิตได้ดีเช่นกัน

ดังนั้นการเลือกสถานที่ในการก่อสร้างฟาร์มเลี้ยงไก่ก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกันหากเลือกผิดก็ย่อมส่งผลเสียต่อตัวไก่และผลผลิตที่จะได้รับ และหากจะเลือกก็ควรเลือกตามหลักการดังต่อไปนี้
1.    พื้นที่มีระดับสูงพอประมาณ ไม่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ระดับพื้นเนินลาดเล็กน้อย เพื่อให้มีการระบายน้ำสะดวก
2.  ต้องเลือกให้ห่างจากฟาร์มอื่น และควรอยู่ห่างจากถนนใหญ่พอสมควร เพียงพอที่จะทำการขนส่งสินค้า หรือวัสดุอุปกรณ์     อาหาร และตลาดที่จะทำการค้าได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย
3.   เนื้อที่ต้องกว้าง เพื่อที่จะมีอากาศถ่ายเทได้เหมาะสม
4.   ควรมีร่มไม้หรือต้นไม้เพื่อการบังแสงแดดยามบ่าย เพื่อลดความร้อนให้แก่คอกไก่
5. ควรเป็นสถานที่และมีน้ำจืดสำหรับเลี้ยงไก่ได้อย่างเพียงพอ และมีไฟฟ้าเพื่อความสะดวกต่อการเลี้ยงและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ด้วย
6.    สามารถต่อเติมหรือขยายได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการขยายกิจการด้วย

ลักษณะและแบบของโรงเรือน
แบบของโรงเรือนไก่ในประเทศเรา ซึ่งเป็นประเทศร้อนและมีฝนตกทั่วไป โดยเรือนไก่ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. ระบายอากาศร้อนได้ กันลม ฝน แดด ซึ่งปัญหาหลักภายในประเทศไทยก็คือ ไม่มีสิ่งที่จะบดบังแสงแดดยามบ่ายหรือเที่ยงวันได้ ทางทิศตะวันตกหรือตะวันตกเฉียงใต้ของตัวโรงเรือน
2. อากาศภายในโรงเรือนต้องเย็นสบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่มีฝนสาด หรือกันลมโกรกได้ดี และไม่อับชื้น
3. รักษาความสะอาดได้ง่าย เป็นแบบที่สร้างง่ายที่สุด ประหยัดค่าก่อสร้าง และใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น
4. มีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้ออย่างทั่วถึง
5. สะดวกต่อการเข้าปฏิบัติงานดูแล ไก่ ป้องกัน นก หนู แมว ฯลฯ ได้

โดยโรงเรือนตามหลัก 3 ข้อดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้แก่
1.  แบบเพิงหมาแหงน เป็นแบบที่สร้างง่ายที่สุด ประหยัด ค่าก่อสร้าง

2.  แบบหน้าจั่วชั้นเดียว สร้างยากขึ้น ค่าใช้จ่ายทั้งค่าแรงและค่าวัสดุก็สูงขึ้น แต่จะสามารถกันแดดฝนได้ดีกว่าแบบเพิงหมาแหงน

3. แบบหน้าจั่วสองชั้น เป็นแบบที่นิยมกันมากในปัจจุบันนี้ ได้มีการดัดแปลงข้อเสียของโรงเรือนแบบหน้าจั่วชั้นเดียว โดยเพิ่มจั่วยกสูงดเพิ่มขึ้นเป็นอีกชั้น ระหว่างชั้นก็เปิดโล่ง ให้มีการระบายอากาศดีขึ้น

4.  แบบจั่วกลาย ซึ่งเป็นแบบที่ดีกว่าเพิงหมาแหงน สามารถกันฝนได้มากขึ้น แต่ก็มีค่าก่อสร้างที่สูงขึ้นเช่นกัน

เรือนแฝดชนิดชายคา 2 หลังมาชนกันนั้นหากวัสดุมุงหลังคาเป็นสังกะสีจะทำให้เกิดความร้อนอบอ้าวและมีอุณภูมิสูงถึง 100 องศาฟาเรนไฮต์ เพราะฉะนั้นหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้เรือนแบบแฝดเพราะหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องของอุณภูมิได้ยาก

โรงเรือนไก่กระทงนั้นปกติสร้างเป็นโรงเรือนยาว ความกว้างของโรงเรือนนั้นไม่ควรต่ำกว่า 6 เมตร และไม่ควรเกิน 10 เมตร ความยาวนั้นไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับว่าไก่มีจำนวนมากน้อยเพียงใด พื้นที่ที่ใช้สำหรับสร้างโรงเรือนควรยกระดับให้มีความสูงจากพื้นทั่วไปประมาณ 30-50 เซนติเมตร มีฝาผนังด้านข้างเปิดโล่งและควรบุด้านข้างด้วยตาข่าย ส่วนล่างก่อด้วยอิฐให้มีความสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร เพื่อป้องกันนกและศัตรูไก่ไม่ให้เข้ามา ประตูเข้า ออก ควรมีแค่เพียงประตูเดียว และกว้างพอที่จะทำการขนย้ายอุปกรณ์เข้าออกได้สะดวก หากโรงเรือนมีความยาวควรแบ่งกั้นด้วยลวดตาข่ายเป็นห้อง ๆ ห้องละไม่เกิน 20 เมตร ซึ่งสามารถใช้เลี้ยงไก่ได้ 2,000 ตัวต่อห้อง ในระยะไก่เล็กหากห้องมีความกว้างมากเกินไปจะแก้ไขด้วยการนำลวดตาข่ายนำมาล้อมเป็นคอกเล็ก ๆ อีกคอกหนึ่งภายในโรงเรือน แล้วค่อยขยายใหญ่เมื่อไก่มีอายุมากยิ่งขึ้น และจะเอาออกเมื่อไก่โตพอจนได้จำนวนเหมาะสมกับพื้นที่เลี้ยง

การวางโรงเรือนควรวางให้ยาวตามตะวันเพื่อลดความร้อนของแสงแดดยามบ่ายให้มากที่สุด    เพราะช่วงบ่ายอุณภูมิค่อนข้างสูง หากมีร่มไม้ทางด้านตะวันตกหรือตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเรือนบ้างก็ช่วยได้มาก ควรให้มีชายคาอีกข้างราว 1 เมตร เพื่อลดปัญหาไอแดด และละอองฝน ความลาดของหลังคาขึ้นอยู่กับแบบของหลังคา วัสดุที่ใช้รวมถึงสถานที่นั้น ๆ ด้วย เช่น จะมีลมหรือฝนมากน้อยเพียงใดวัสดุมุงหลังคาอาจใช้แฝก จาก สังกะสี โดยเฉพาะโรงเรือนที่เลี้ยงเพื่อการค้าและเน้นมาตรฐาน หลังคาจะเป็นแบบหน้าจั่วสองชั้นมุงด้วยสังกะสีหรือกระเบื้องซีเมนต์ เพื่อความคงทนและสะดวกในการล้างทำความสะอาด ความสูงของชายคากับตัวหลังคาย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับการระบายความร้อน ความชื้น และการถ่ายเทอากาศ ซึ่งโดยปกติแล้วโรงเรือนนั้นต้องการอากาศที่ค่อนข้างถ่ายเทสูง และระบายความร้อนดี เย็นและแห้ง โรงเรือนที่มีชายคาต่ำกว่า 2.20 เมตรอาจดีเรื่องของการป้องกันฝนและอาจส่งผลในเรื่องของความร้อนอบอ้าวในยามบ่าย หากมีการโดนแดดยามบ่ายเป็นเวลาตลอดช่วงฤดูร้อน ก็ไม่ควรเป็นโรงเรือนแฝด และควรอยู่ห่างกันมากเพื่อป้องกันเกี่ยวกับเรื่องโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

bottom of page